หน้าแรก

วงแบนด์

วงแบนด์ เป็นการผสมวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องลมไม้ และเครื่องลมทองเหลืองเป็นหลัก มีเครื่องประกอบจังหวะตามความเหมาะสม วงแบนด์แบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน ดังนี้

3.1 วงซิมโฟนิคแบนด์ (Symphonic Band) เป็นการผสมที่เน้นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าชนิดต่างๆ เป็นสำคัญ และมีเครื่องประกอบจังหวะตามความเหมาะสม ใช้บรรเลงในร่ม ในห้องประชุม หรือห้องจัดแสดงดนตรี บทเพลงที่ใช้บรรเลงต้องเขียนขึ้นโดยเฉพาะ วงซิมโฟนิคแบนด์จะไม่นำไวโอลิน วิโอลา และเชลโลมาประสมวง ยกเว้นดับเบิลเบสซึ่งเป็นเครื่องสายชนิดเดียวที่นำมาประสมในวงประเภทนี้ การประสมวงดนตรีและการบรรเลงดนตรีในลักษณะนี้ อาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นได้อีก เช่น Concert Band หรือ Wind Ensemble

3.2 วงมาร์ชชิ่งแบนด์ (Marching Band) เป็นวงดนตรีที่มีอยู่ตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เหมาะสำหรับบรรเลงกลางแจ้ง เป็นดนตรีสนาม ใชบรรเลงนำขบวนพาเหรด บรรเลงในสนามกีฬา บรรเลงในวงเฉลิมฉลองต่างๆ ที่ต้องการความครึกครื้น สนุกสนาน และความเข้มแข็ง เพลงที่บรรเลงมีทั้งมาร์ชต่างๆ และเพลงลีลาแบบอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงมาร์ช นำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงโดยวงมาร์ชชิ่งแบนด์โดยเฉพาะ เครื่องดนตรีที่นำมาประสมในวงมาร์ชชิ่งแบนด์คือ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าและเครื่องตีกระทบประกอบจังหวะ ถ้าดูจากการประวงของเครื่องดนตรีแล้ว วงมาร์ชชิ่งแบนด์สมารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

ภาพที่ 3.1 วงมาร์ชชิ่ง คลิกดาวน์โหลดภาพ

               3.2.1 แตรวง (Brass Band) ผสมวงดนตรีด้วยเครื่องดนตรีเพียง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง คือ เครื่องดนตรีจำพวกแตรชนิดต่างๆ และกลุ่มเครื่องตีกระทบประกอบจังหวะ

               3.2.2 วงโยธวาทิต (Military Band) เป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในกิจการของทหาร เช่น บรรเลงสำหรับเดินแถวทหาร บรรเลงเพื่อปลุกใจทหาร ต่อมาได้แพร่หลายไปสู่สถานศึกษาต่างๆ โดยได้นำวงโยธวาทิตไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน

วงโยธวาทิต ผสมวงดนตรีด้วยเครื่องดนตรี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ กลุ่มเครื่องลมทองเหลืองและกลุ่มเครื่องตีกระทบประกอบจังหวะ จำนวนเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม

วงโยธวาทิตที่มีชื่อเสียงของโลก คือ วงโยธวาทิตของ จอห์น ฟิลิป ซูซ่า (John Philip Sousa ค.ศ. 1854 – 1993)เป็นวงโยธวาทิตที่อยู่ในอเมริกา และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สำหรับ จอห์น ฟิลิป ซูซ่า นั้น เป็นผู้ที่มีความสามารถทางดนตรีอย่างมาก เป็นทั้งผู้ควบคุมวงดนตรีที่มีความสามารถ และนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะเพลงในลีลาจังหวะมาร์ช เขาแต่งได้อย่างไพเราะทุกเพลง จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งเพลงมาร์ช”

          3.3 วงบิ๊กแบนด์ (Big Band) คือ วงดนตรีแจ๊สประเภทหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ราวปี ค.ศ. 1920 นักดนตรีแจ๊สทั้งหลายมีความคิดที่จะทำให้วงดนตรีแจ๊สทัดเทียมกับวงดนตรีประเภทออร์เคสตรา ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ที่ได้พัฒนามาช้านานลัว จึงได้รวมตัวกันบรรเลงด้วยจำนวนนักดนตรีที่มากกว่าที่เคยรวมตัวกันมา คือ ประมาณ 12 – 17 คน ซึ่งแต่เดิมวงดนตรีแจ๊สจะมีนักดนตรีประมาณ 4 – 8 คน เท่านั้น

          วงดนตรี บิ๊กแบนด์ เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 3 กลุ่ม ดังนี้

               3.3.1 กลุ่มเครื่องลมไม้ ประกอบด้วยอัลโตแซ็กโซโฟน 2 เครื่อง เทเนอร์แซ็กโซโฟน 2 เครื่อง บาริโทนแซ็กโซโฟน 1 เครื่อง รวมทั้งปี่คลาริเนตและฟลุทด้วย

               3.3.2 เครื่องลมทองเหลือง ประกอบด้วย แตรทรัมเป็ท 2 – 3 เครื่อง สไลด์ทรอมโบน 2 เครื่อง

               3.3.3 เครื่องกระทบหรือเครื่องตีประกอบจังหวะ ประกอบด้วย กลองขนาดต่างๆ แบนโจ กีต้าร์เบส รวมทั้งเปียโนด้วย

จุดมุ่งหมายของการบรรเลงด้วยวงบิ๊กแบนด์ก็เพื่อประกอบการเต้นรำและเอาไว้ฟังเพื่อความไพเราะ นอกจากนั้นยังมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้วงดนตรีชนิดนี้มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นอีก 2 ชื่อ คือ Dance Band และ Commercial Band หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของโลกซบเซา วงดนตรีแจ๊สวงใหญ่ที่เรียกว่าบิ๊กแบนด์จึงได้เสื่อมความนิยมไปในที่สุด

          3.4 วงคอมโบ (Combo) คือวงดนตรีขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นหลังจากวงบิ๊กแบนด์เสื่อมความนิยมลง จุ่งมุ่งหมายของการบรรเลงด้วยวงคอมโบ คือ บรรเลงประกอบขับร้อง บรรเลงเพื่อการฟัง บรรเลงประกอบการเต้นรำ และบรรเลงเพื่อประกอบการแสดงต่างๆ

วงคอมโบมีจำนวนนักดนตรี และเครื่องดนตรีไม่แน่นอน เครื่องดนตรีส่วนมากที่ใช้ คือ ไวโอลิน ทรัมเป็ท แซ็กโซโฟน ทรอมโบน เปียโน เบส ดับเบิลเบส กลองชุด และเครื่องตีกระทบจังหวะต่างๆ เช่น มาราคาส แทมบูริน เป็นต้น

เครื่องดนตรีอื่นๆ ก็สามารถนำมาผสมวงเพิ่มเติมได้ตามความต้องการ

ใส่ความเห็น